มะพร้าวสวี สายพันธุ์มะพร้าวแกงที่ให้น้ำกะทิอร่อยที่สุดในไทย
สวี [สะ-หวี] นอกจากจะเป็นชื่ออำเภอหนึ่งของจังหวัดชุมพรแล้ว ยังเป็นชื่อของมะพร้าวแกงลูกผสมสายพันธุ์เด่นจากศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น สวี, ฉวี, นวลฉวี และมาว่า
มะพร้าวแกงสายพันธุ์นี้ถูกผสมมาจาก มะพร้าวมาลายูสีเหลืองต้นเตี้ย กับ มะพร้าวเวสท์เอฟริกันต้นสูง ได้ออกมาเป็นมะพร้าวแกงสวี ที่ให้น้ำมันสูงที่สุดถึง 68% (มากที่สุดในบรรดาสายพันธุ์มะพร้าวของไทย) จึงทำให้ได้น้ำกะทิอร่อยที่สุด มีกลิ่นหอมมากกว่าสายพันธุ์อื่น และนุ่มมือเมื่อคั้นตามวิถีพื้นบ้าน (ขูดด้วยกระต่ายขูดมะพร้าวและคั้นเนื้อมะพร้าวด้วยมือ)
เนื้อหนา ผลดก (มากสุด 30 ผล/ทะลาย เก็บสถิติสูงสุดจากสวน COCONUT Thailand) ให้ปริมาณน้ำกะทิมากกว่ามะพร้าวทั่วไป 30-40%
“โดยเฉลี่ยแล้วเนื้อมะพร้าว 1 กิโลกรัม จะให้น้ำกะทิ 5 ขีด แต่สำหรับมะพร้าวแกงสวี จะให้น้ำกะทิได้ถึง 7 ขีด (หัวกะทิ)” แม่ค้าทำขนมกล่าว
ข้อดีมากมายขนาดนี้ ก็ไม่ใช่ว่ามะพร้าวแกงสวีจะไม่มีข้อด้อยนะ ที่สำคัญเลยคือ ลูกมันเล็กกว่ามะพร้าวแกงพันธุ์อื่นๆ อยู่ในระดับกลาง-เล็ก ราคาขายกับพ่อค้าคนกลางก็จะถูกกว่าหน่อย เพราะส่วนใหญ่ก็จะดูแต่ภายนอก ลูกเล็กราคาถูก ลูกใหญ่ราคาแพง แต่ถ้าเป็นพ่อค้าที่รู้จักมะพร้าวแกงสวีแล้ว อันนี้ก็คุยกันได้ พ่อค้าทุกเจ้าอยากได้มะพร้าวคุณภาพดีอยู่แล้ว
อย่างเช่น บ้านคุณตากับคุณยายของผม (ท่านเป็นช่างแกงเชฟอาหารอิสลาม) ในทุกๆวันตลอดเดือนถือศีลอด ท่านจะทำอาหารละศีลอดเลี้ยงลูกๆหลานๆทุกคน เมนูประจำคือ แกงกะทิสด แกงเผ็ด กุรุหม่า มัสมั่น ข้าวหมก ข้าวมัน และซุปเสือร้องไห้ ใช้มะพร้าวเฉลี่ย 30-50 ลูก/เมนูที่ใช้กะทิ ซึ่งจะใช้มะพร้าวแกงสวีเป็นหลัก ด้วยเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมา
ถ้าพูดถึงเรื่องการปลูกแล้ว มะพร้าวแกงสวี จะให้ผลเร็วกว่าและต้นเตี้ยกว่า เริ่มออกผลประมาณ 4 ปี ที่ความสูงประมาณ 1.5 เมตร เตี้ยมากๆเลย แต่ก็ไม่เตี้ยเท่ามะพร้าวน้ำหอมหรอกนะ
ด้วยความที่เป็นมะพร้าวลูกผสม เวลาเพาะพันธุ์ออกมา จึ่งมีต้นที่กลายพันธุ์อยู่ ซึ่งต้องใช้เทคนิคในการคัดเลือกต้นให้ตรงตามแม่พันธุ์เดิม เช่น เลือกต้นที่มีสีส้มหรือสีเขียว ลูกไม่ใหญ่ ไม่กลม ทรงรีป้อมตรงกลาง ก็ต้องอาศัยความชำนาญ เพราะเวลาเลือกจริง มันมีหลายเฉดสีมาก ลักษณะลูกก็ต่างกัน แต่ผมโชคดีที่คุณตาสอนผมมาตั้งแต่เด็กๆ ผมจึงเข้าใจได้ไม่ยาก (อัลฮัมดุลิ้ลลาฮ ขอบคุณพระเจ้า)
ส่วนระยะเวลาในการเพาะพันธุ์ จะต้องรอนานถึง 6 เดือนจึงจะนำลงปลูกได้ เป็นมะพร้าวที่งอกยากมาก จนบางครั้งก็คิดว่ามันคงจะไม่งอกแล้ว
ในสวนบ้านคุณตาของผม จะใช้เทคนิคในการปลูกแบบแถวเดี่ยวริมคันนา ซึ่งนอกจากจะไม่ต้องรดน้ำใส่ปุ๋ยแล้ว ยังได้ผลผลิตที่ดีมาก ก็เป็นผลมาจากการทำนาข้าวร่วมกับสวนมะพร้าวนี่แหละครับ
เขียนบทความโดย ครูพี่นุ (ภานุพงศ์ สะและหมัด)
ปราชญ์ชุมชนด้านเศรษฐกิจพอเพียง
เจ้าของสวน COCONUT Thailand
ความเห็นล่าสุด