การจัดการหญ้าในสวนมะพร้าว
“พอดีว่า..ผมได้ฉีดยาฆ่าหญ้า(แบบดูดซึม)ไป แล้วมะพร้าวมันจะเหลืองๆ มีวิธีแก้ไขไหมครับ”
เป็นคำถามจากเกษตรกรท่านหนึ่ง ที่คอยสังเกตการเจริญเติบโตและการเปลี่ยนแปลงของมะพร้าวอยู่เป็นประจำ แทบจะเรียลไทม์กันเลยครับ ซึ่งถือว่าเป็นคุณสมบัติที่ดีอย่างหนึ่งของการเป็นเกษตรกรเลย
ในกรณีนี้ ถือว่าอาการไม่ได้ดูแย่มากนัก เป็นผลจากการถูกรบกวนระบบรากของมะพร้าวในบริเวณผิวหน้าดิน ซึ่งระหว่างนี้เราก็ดูแลรดน้ำและรอการฟื้นตัวให้กลับมาเป็นปกติครับ
นี่ก็เป็นการจัดการหญ้าวิธีหนึ่ง ที่ทำได้ง่าย ประหยัดแรงและเวลาของเรา แต่ถ้าหากมองถึงระยะยาวในการทำเกษตรอย่างยั่งยืนแล้ว ก็จะมีวิธีการที่แตกต่างกันไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งผมได้นำแนวราชดำริของในหลวงรัชกาลที่9 มาวิเคราะห์และประยุกต์ใช้ในการจัดการหญ้าโดยไม่ทำลายระบบนิเวศภายในสวน
พระองค์ทรงมีพระราชดำริว่า “…การปรับปรุงที่ดินนั้นต้องอนุรักษ์ผิวดิน ซึ่งมีความสมบูรณ์ไว้ไม่ให้ไถ หรือลอกหน้าดินทิ้งไป สงวนไม้ยืนต้น ที่ยังเหลืออยู่ เพื่อที่จะรักษาความชุ่มชื่นของผืนดิน…” ( สำนักงาน กปร., 2542)
จากคำสอนของพระองค์ท่าน ในการอนุรักษ์ผิวดินนั้นก็คือ ศาสตร์การห่มดินนั่นเอง ซึ่งคำว่า “ไม่ให้ไถ หรือลอกหน้าดินทิ้งไป” สื่อให้เห็นว่าพื้นที่บริเวณผิวหน้าดินนั้นมีความสำคัญมาก เพราะต้นไม้นั้นต้องอาศัยพื้นดินในการยึดเกาะและหาอาหาร เปรียบเสมือนปัจจัยสี่ของมนุษย์ ดังนั้นถ้าหากเราไม่คอยรักษาและปรับปรุงบำรุงที่ดินของเรานั้น วันหนึ่งดินอาจเสื่อมสภาพจนหมดสารอาหารที่ต้นไม้จะใช้เจริญเติบโตได้
หากในสวนมะพร้าวของเรามีการเปิดหน้าดิน ด้วยการถากหญ้าออกหรือใช้สารกำจัดวัชพืชให้หญ้าตายทั้งหมดนั้น ถือเป็นการทำลายดินให้เสื่อมสภาพในเร็ววัน
เมื่อผิวดินถูกเปิดออกให้สัมผัสกับอากาศและแสงแดดโดยตรงนั้น จะทำให้ดินเสื่อมสภาพ น้ำและความชื้นระเหยไปได้เร็ว เมื่อไม่มีความชื้น ก็จะทำให้สัตว์ตัวเล็กๆ พวกไส้เดือน กิ้งกือ แมลงต่างๆที่เป็นมิตร ก็ย้ายกันไปอยู่ที่อื่น รวมทั้งจุลินทรีย์ที่ชอบความมืดนั้นก็ไม่อยากอยู่อีกต่อไป ซึ่งสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญที่ทำให้พืชเจริญเติบโตได้ดี
“เปิดหน้าดิน = ทำลายดิน”
ดังนั้น เราควรใช้การตัดหญ้าแทน ถึงแม้จะเป็นวิธีการที่ต้องใช้แรงและเวลามากกว่า แต่ก็จะส่งผลดีในระยะยาว โดยการตัดหญ้าเหนือผิวดินขึ้นมา ไม่ให้ความสูงของหญ้าบดบังแสงของกล้ามะพร้าวในช่วงแรก และนำหญ้าที่ตัดไว้นั้นมาคลุมในบริเวณรอบๆทรงพุ่ม เพื่อรักษาความชื้นและบดบังแสงให้จุลินทรีย์เติบโตได้ดี ส่วนหญ้าสั้นๆที่เหลืออยู่ในบริเวณรอบนอกนั้น มันจะคอยรักษาความสมดุลของผิวดินเอาไว้เอง
สำหรับสวนมะพร้าวที่โตให้ผลผลิตแล้ว ก็จะใช้วิธีการเดียวกัน แต่สามารถรักษาหญ้าไว้ที่ความสูงมากขึ้นได้
คุณสมบัติของหญ้าผิวดิน
- รักษาความชื้น ไม่ให้ระเหยไปได้เร็ว เพราะน้ำและความชื้นคือหัวใจสำคัญของทุกสิ่งมีชีวิต
- รักษาอุณหภูมิของผิวดินไว้ ไม่ให้ร้อนหรือเย็นเกินไป ทำให้สัตว์ตัวเล็กๆอาศัยอยู่ได้
- ป้องกันการชะล้างสารอาหารในดิน เมื่อมีฝนตกมากจนน้ำไหลเชี่ยว
- เป็นสารอาหารให้กับพืช เมื่อมันตายและย่อยสลายลง
หลายท่านอาจเกิดคำถามขึ้นอีกว่า..
- แล้วหญ้ามันจะไม่แย่งอาหารต้นมะพร้าวหรือพืชอื่นๆหรือ?
ตอบ ไม่เลยครับ ถึงแม้ว่าหญ้าจะต้องกินอาหารเหมือนกัน แต่มันก็กินบางอย่างไม่เหมือนกัน ในปริมาณที่ต่างกัน
- ถ้าจำเป็นต้องใช้สารกำจัดวัชพืช จะต้องทำอย่างไร?
ตอบ จะต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะสารประเภทดูดซึม เช่น ไกลโฟเสท มันสามารถทำลายระบบรากมะพร้าวที่อยู่ผิวดินได้ หรือการใช้สารประเภทเผาไหม้ เช่น พาราควอท ที่ทำลายพืชใบเขียวทุกชนิดและเป็นพิษต่อสัตว์น้ำ ควรสังเกตทิศทางของลม สภาพอากาศที่ไม่มีฝนตก รวมถึงช่วงเวลาที่ฉีดด้วย และเมื่อหญ้าตายหมดแล้วเราควรรักษาหน้าดินด้วยการห่มดินจากเศษพืชที่หาได้ง่ายในพื้นที่ของเราแทน
เขียนบทความโดย : ครูพี่นุ | ภานุพงศ์ สะและหมัด
- เจ้าชองสวน โคโคนัท ไทยแลนด์
- ปราชญ์ชุมชน ด้านเศรษฐกิจพอเพียง
ความเห็นล่าสุด